จริงเหรอที่คนทำ “Social movement” ในไทยไม่ “ลี้ภัย ถูกอุ้มหาย ก็ติดคุก??”

ควันหลงจากการประกวด Miss Universe ที่ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้คงไม่พ้นกระแสของคำว่า Social movement หรือ การเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ได้จุดประกายให้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง มีหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์บรรยากาศการเมืองและสังคมในประเทศไทยที่จำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาสังคม ที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือ Social movement ภายใต้ร่มเงาของรัฐบาลทหารเป็นไปอย่างยากลำบาก มากไปกว่านั้นหลายคนตั้งคำถามว่าที่เราไม่ค่อยเห็น Social movement ในไทยเพราะคนส่วนใหญ่ที่ออกมาทำ Social movement นั้น ไม่ถูกอุ้มหาย ลี้ภัย ก็ติดคุกหรือเปล่า?

วันนี้ Way’s UP จึงขอพาทุกท่านไปย้อนร้อยดูบุคคล และกลุ่มบุคคลที่ออกมาทำ Social movement หรือออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและให้การสนับสนุนกลุ่มคนที่ออกมาทำ Social movement ในประเทศไทยว่าตอนนี้พวกเขาเหล่านั้นตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหนบ้าง

ทนายสมชาย นีละไพจิตร

สถานะ: ถูกอุ้มหาย ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547

ทนายสมชาย นีละไพจิตร /ภาพจาก desaparecidos.org

ทนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมแห่งประเทศไทย เบื้องหลังของคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีทางภาคใต้ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับการก่อการร้าย

โดยระยะเวลาที่หายตัวไปนั้นทนายสมชายกำลังรับว่าความคดีของ 5 ผู้ต้องหาชาวมุสลิม โดยผู้ต้องหาได้ร้องเรียนว่าถูกนายตำรวจชุดจับกุมซ้อมทรมานจนต้องรับสารภาพ โดยทนายสมชายได้ทำเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อศาล และทำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม ต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อัยการสูงสุด ผบ.ตร. ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจเป็นวงกว้าง มากไปกว่านั้นทนายสมชายได้รวบรวมรายชื่อของประชาชนกว่า 50,000 รายชื่อในการยกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยภาคประชาสังคมเชื่อกันว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมและการให้การช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนของทนายสมชายเป็นสาเหตุของการหายตัวไปของท่าน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

ครบ 10 ปี คดีอุ้ม ‘ทนายสมชาย’ ไขปมหายตัวปริศนา

Somchai Neelapaijit

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “ไผ่ ดาวดิน”

สถานะ: ติดคุก

 

‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา /ภาพจาก กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษา/นักกิจกรรมในกลุ่มดาวดิน ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” จากเว็บข่าวบีบีซีไทยลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวได้ถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี สารภาพลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6เดือน

โดยนามสกุล ดาวดิน นั้นคือชื่อ ของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำงานในการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movement) ด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับชาวบ้านในกรณีเคลื่อนไหวคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทองเพิ่มใน จ.เลย และพื้นที่ปัญหาพิพาทพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นอกจากนั้นกลุ่มดาวดินยังมีส่วนในการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลทหารอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

7 นักศึกษาดาวดิน กับภูมิหลัง ทัศนคติ และ”จุดยืน”ที่ไม่เคยเปลี่ยน

‘ไผ่ ดาวดิน’ รับสารภาพคดีม.112เหตุแชร์ข่าว BBC ไทย ศาลพิพากษาคุก 5 ปี สารภาพเหลือ 2 ปี 6เดือน

“บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ

สถานะ: หายไปอย่างไร้ร่องรอย ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557

 

“บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ /ภาพจาก hilight.kapook

“พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้หายตัวไปอย่างปริศนาตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยผู้ใหญ่บ้านบางกลอยได้ไปแจ้งความคนหายไว้ที่สถานีตำรวจ และเบาะแสสุดท้ายที่พอรู้ว่าบิลลี่ยังปรากฎตัวอยู่คือการที่ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำตัวบิลลี่ไป ซึ่งต่อมา “ชัยวัฒน์” ยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง เพราะพบว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง จึงเรียกไปตักเตือน แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว

โดยการหายตัวไปครั้งนี้ทางญาติของบิลลี่ปักใจเชื่อว่าเป็นเพราะเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วย “ปู่คออี้” (นายโคอิ มีมิ) และชาวบ้าน ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว เมื่อปี 2554 ในการนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

คดีที่หายไป – 3 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ภรรยาระบุไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว มั่นใจระบบยุติธรรมแต่คนไม่ปฏิบัติ

“ปู่คออี้”เตือนสติลูกหลานไม่เบียดเบียนคนอื่น ยันบ้านบางกลอยที่ถูกเผาคือบ้านเกิด แม้ศาลปกครองตัดสินยกฟ้อง เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ

ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

สถานะ: สมาชิกหลายคนเคยถูกดำเนินคดี มีคดีติดตัว หรือ เคยถูกอุ้ม (แต่ยังไม่หาย)

 

7 นักกิจกรรมจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยถูกจับกุมเนื่องรรณรงค์โหวตโนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภาพจาก กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมจากรั้วธรรมศาสตร์กลุ่มนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคมไทย พวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวที่มุ่งมั่น อยากเห็นประเทศชาติพัฒนาและเดินหน้าไปด้วยระบอบประชาธิปไตย พวกเข้าได้รวมกลุ่มจัดกิจกรรรมทั้งรณรงค์ ให้ความรู้ และแสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และพื้นที่สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น หน้าหอศิลปวัฒนธรรมฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งการทำกิจกรรมดังกล่าวก็เป็นที่มาให้พวกเขาต้องผ่านการถูกจับกุม และดำเนินคดีมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน มากไปกว่านั้นสมาชิกบางคนยังเคยถูกอุ้มจากหน้าประตูมหาวิทยาลัยเข้าสู่ค่ายทหารมาแล้ว

ติดตามการดำเนินกิจกรรมของพวกเขาได้ที่:

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

หยุดถ่านหินสงขลา “เทใจให้เทพา”

สถานะ: ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดี

 

อาจารย์ดิเรก เหมนคร แกนนำกลุ่มหยุดถ่านหินสงขลาถูกจับกุมตัวจากการเดินเพื่อยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 /ภาพจาก หยุดถ่านหินสงขลา

เทใจให้เทพา เป็นการเดินคัดค้านโดยเครือข่ายคนสงขลาปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เนื่องจากถ่านหินส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและวิถีชีวิตอย่างรุนแรง โดยกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันเดินจากอ.เทพา จ.สงขลาเพื่อจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในโอกาส การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา และได้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำอย่างที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ โดยในจดหมายที่จะส่งถึงนายกฯ แต่ไม่ถึงนายกฯ ประกอบไปด้วย 5 เหตุผลที่ไมาเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ

  1. ยังไม่เคยมีการพูดคุยระหว่างรัฐกับกลุ่มคัดค้าน
  2. EHIA ไม่ครอบคลุม มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่
  3. มีการเสนอให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่ EHIA ท่าเรือขนถ่านหินยังไม่ผ่าน
  4. ชาวบ้านกว่า 1,000 คน ต้องย้ายออกจากพื้นที่โครงการ
  5. ในรัศมี 1 กม.มีคนมากถึง 4,000 คน ที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ติดตามการดำเนินกิจกรรมของพวกเขาได้ที่:

หยุดถ่านหินสงขลา


และนี่คือตัวอย่างของบุคคลและกลุ่มคนที่ออกมาแสดงจุดยืน และแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เขาเชื่อ ในสิ่งที่เขาคิด และเรียกร้องคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของพวกเขา แต่กลับถูกจับกุม ดำเนินคดี และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า หรือรัฐไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับความมั่นคงของมนุษย์ และนับเอาสิ่งนี้เป็นหนึ่งในความมั่นคงของรัฐ? และนี่คงเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่าทำไมสังคมไทยถึงไม่ค่อยรู้จักและให้คุณค่ากับ Social movement อย่างที่ควรจะเป็น

ภาพหน้าปกบทความโดย: Siripong Sawatsuntisuk

ติดตามเรื่องราวดีๆจาก Way’s UP กดไลค์เลยยย

(Visited 722 times, 1 visits today)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *